วันอังคารที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2550

คำนำ บทนำ โครงสร้างและรายละเอียดมาตรฐานอาชีพ
| หมวดที่ 1| หมวดที่ 2 | หมวดที่ 3 | หมวดที่ 4 | หมวดที่ 5 | หมวดที่ 6 | หมวดที่ 7 | หมวดที่ 8 | หมวดที่ 9 | หมวดที่ 0 |

หมวดใหญ่ 2 ผู้ประกอบวิชาชีพด้านต่าง ๆ
หมวดย่อย 22 ผู้ประกอบวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตและสุขอนามัย
หมู่ 221 ผู้ประกอบวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต
หน่วย 2213 นักเกษตรกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

2213.20 นักพืชไร่; พืชกร
ทำการศึกษาและปฏิบัติงานเกี่ยวกับการทดลองหรือค้นคว้าปัญหาเกี่ยวกับพืชไร่ ค้นหาวิธีการปลูกพืชไร่ชนิดใหม่ และปรับปรุงวิธีการที่ใช้กันอยู่เดิมให้ดีขึ้น เพื่อให้ได้ผลผลิตและ คุณภาพสูงขึ้น : วางแผนและทำการศึกษาเกี่ยวกับการผสมพันธุ์พืชที่สถานีทดลองหรือที่ไร่นา เพื่อให้ได้พันธุ์ใหม่และปรับปรุงพันธุ์ของพืชไร่ เช่น ฝ้าย ยาสูบ พืชที่ให้เมล็ด พืชหัว ป่านหรือปอ โดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เช่น ผลผลิตคุณภาพที่เหมาะสมกับดินและอากาศในแต่ละแห่ง การต้านทานต่อโรคและแมลง ; วางแผน แนวการศึกษา และทำการศึกษาผลิตภัณฑ์ที่ได้จากพืชไร่ เพื่อให้ทราบถึงดินที่พืชต้องการ วิธีการปลูก การเก็บเกี่ยว และการเก็บรักษาที่ดี ตลอดจนผลของการใช้พืชหมุนเวียน การระบายน้ำ การชลประทาน ระดับสูงต่ำของพื้นที่และสภาพดินฟ้าอากาศ ; หาวิธีป้องกันวัชพืช โรคพืช และแมลงที่เป็นอันตรายแก่พืช ; ทำการแสดงสาธิตให้เกษตรกรได้ทราบถึงเกษตรกรรม แผนใหม่ อาจมีความชำนาญในพืชชนิดหนึ่งชนิดใด พืชหมู่หนึ่งหมู่ใดหรืองานทางเทคนิคอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น การผลิต การผสมพันธุ์ การป้องกันวัชพืชและโรคพืช หรือการชลประทาน

2213.30 นักพืชสวน
ทำการศึกษาและปฏิบัติงานการทดลองค้นคว้าและค้นหาวิธีการปลูกพืชชนิดใหม่และปรับปรุงวิธีการที่ใช้กันอยู่เดิมเกี่ยวกับการผสมพันธุ์และการเพาะปลูกไม้ผล พืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ สมุนไพร ตลอดจนการแก้ปัญหาการผลิต การเก็บรักษา และการขนส่ง : ทดลองเกี่ยวกับการผสมพันธุ์ เพื่อให้ได้พันธุ์ใหม่หรือปรับปรุงพันธุ์ที่มีอยู่แล้วให้มีผลผลิตสูงขึ้น คุณภาพดีขึ้น มีคุณค่าทางอาหารมากขึ้น มีความต้านทานโรคและปรับตัวเข้ากับดินฟ้าอากาศดีขึ้น และค้นคว้าวิธีการใช้ประโยชน์ของพืชผลสดต่างๆ เช่น การใช้ห้องเย็น ; ทดลองหรือค้นคว้าเพื่อหาวิธีการปลูก การใช้ยากำจัดศัตรูพืช การเขตกรรม ธาตุอาหาร น้ำ สารควบคุมการเจริญเติบโต ตลอดจนค้นคว้าพืชหมุนเวียน ปุ๋ย และการใช้ประโยชน์จากดินให้เหมาะสมที่สุด ; กำหนดความต้องการของพืชเกี่ยวกับดิน ภูมิอากาศ และเลือกสถานที่ที่เหมาะแก่การเพาะปลูก กำหนดเวลาที่ดีที่สุดในการเก็บเกี่ยว ; กำหนดอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสมสำหรับการเก็บรักษาและขนส่ง อาจมีความชำนาญในการศึกษาพืชชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่น ไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ สมุนไพร อาจ เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการผลิตเมล็ดพันธุ์ การตรวจสอบคุณภาพ วิธีการบรรจุและเก็บรักษาเมล็ดพืช อาจดำเนินงานในกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่หนึ่งอย่างขึ้นไป เช่น การจัดการเกี่ยวกับสถานีทดลองสวนผลไม้ สวนขนาดใหญ่ในเชิงพาณิชย์ หรือสถานเพาะชำ

2213.40 นักวนวัฒนวิทยา
วิจัยปัญหาการปรับปรุงพันธุ์และการสืบพันธุ์ของพันธุ์ไม้ในพื้นที่ป่าธรรมชาติและพื้นที่สวนป่า การปลูกสร้างสวนป่าและการบำรุงป่า : วิจัยด้านวนวัฒนวิธีต่างๆ เช่น อัตราความเจริญของต้นไม้ การตัดสางขยายระยะซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตและผลิตผลจากป่า การกระจายของเมล็ด การงอกของเมล็ดพรรณไม้ป่านานาชนิด ผลที่เกิดจากไฟป่าและการเลี้ยงสัตว์ในป่าต่อความเจริญเติบโตของต้นไม้ ; พัฒนาป่าโดยจัดให้มีสถานีเพาะชำกล้าไม้ การย้ายปลูกกล้าไม้ กำจัดต้นไม้ที่เป็นโรคการตัดสางขยายระยะ การลิดกิ่ง และวิธีการอื่นๆ เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของหน่อหรือกล้าต้นไม้ ; พัฒนาระบบวนวัฒนาวิทยาเพื่อเพิ่มผลผลิตและสมดุลของสภาพแวดล้อม และปล่อยให้ต้นไม้ที่มีอายุน้อยขึ้นและเจริญเติบโตต่อไป ; พัฒนาวิธีการวัดต้นไม้ การประมาณความเจริญเติบโตและผลผลิตของหมู่ไม้ และการกำหนดชื่อของต้นไม้ให้ถูกต้อง

2213.45 นักวิชาการป่าไม้
ทำการศึกษาวิจัยด้านวนวัฒนาวิทยา ทั้งเพื่อในแนวทางเพื่อป่าผลิตผลและป่าป้องกันหรือการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้เพื่อแก้ปัญหาทางวิชาการป่าไม้ : ดำเนินการศึกษาวิจัยทางด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านการปรับปรุงพันธุ์ไม้ป่า การปลูกบำรุงสวนป่า เมล็ดพันธุ์ไม้และแปลงเพาะ ปฐพีวิทยาป่าไม้ เทคโนโลยีชีวภาพ ผลิตผลป่าไม้ โรคและแมลงป่าไม้ วนเกษตร การวิจัยด้านเกษตร-ปศุสัตว์-ป่าไม้ การวิจัยลุ่มน้ำ พฤกษศาสตร์ป่าไม้ ผลิตผลรองจากป่า สัตว์ป่า การวิจัยด้านการจัดการป่าไม้ ด้านเศรษฐกิจป่าไม้ และการวิจัยด้านทรัพยากรป่าไม้ โดยอาจใช้ภาพถ่ายทางอากาศ ภาพถ่ายดาวเทียม

2213.50 นักปฐพีวิทยา; นักวิทยาศาสตร์ของดิน
ศึกษาลักษณะและประโยชน์ที่เหมาะสมของดิน และใช้ผลของการศึกษาแก้ปัญหาทางการเกษตร การป่าไม้ การชลประทาน และการระบายน้ำ : ศึกษากำเนิด องค์ประกอบและการกระจายของดิน ตลอดจนจัดประเภทดินให้เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ; วิเคราะห์ดินทางเคมี ทางแร่ ทางกายภาพ และทางชีวภาพ และตีความหมายผลของการวิเคราะห์ในทัศนะของการเกษตร การป่าไม้ การชลประทาน และการระบายน้ำ ; ทำการทดลองเพื่อปรับปรุงหรือแก้ไขลักษณะและ คุณสมบัติของดินให้เหมาะสมต่อการเกษตร การป่าไม้ การชลประทาน และการระบายน้ำ ; ตรวจสอบผลตอบสนองของดินที่มีต่อการเขตกรรม การใส่ปุ๋ย การปลูกพืชหมุนเวียน การชลประทาน การระบายน้ำ และการปฏิบัติงานอื่นๆ ; วางแผน พัฒนาและประสานการปฏิบัติงานต่างๆ เพื่อสงวนความชื้นในดินและเพื่อควบคุมการพังทลาย การทะลาย การใช้ประโยชน์และการเสื่อมคุณภาพของดิน ; ทำการทดลองเพื่อให้ทราบถึงลักษณะและคุณสมบัติของดินที่เหมาะสมสำหรับพืชแต่ละชนิด ; ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ดินให้เป็นประโยชน์ การจัดการและการอนุรักษ์ดิน รวมทั้งการรักษาหรือการแก้ไขดินให้มีลักษณะและคุณสมบัติที่เหมาะสมอยู่เสมอ

2213.60 นักสัตวบาล
ทำงานวิจัยและปรับปรุงวิธีการทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการผสมพันธุ์สัตว์ การเลี้ยงดู และจัดการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เช่น โคเนื้อ โคนม สัตว์ปีก ม้า สุกร แกะ กวาง ฯลฯ รวมทั้งอาหารสัตว์ : ทดลองผลของการให้อาหารต่างชนิดกัน สภาพแวดล้อมการผลิตนม ไข่ หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ พันธุศาสตร์ วิธีการฆ่าสัตว์ประเภทที่ให้เนื้อ การเตรียมและการเก็บผลิตภัณฑ์ และการทำงานเกี่ยวกับการจัดการ ; วิเคราะห์ข้อมูลจากการทดลองทำรายงาน และปรับปรุงโรงเรือนของสัตว์ สุขาภิบาล อุปกรณ์เครื่องใช้ และวิธีป้องกันและควบคุมโรคสัตว์ และตัวพาราสิต ตลอดจนเทคนิคของการผสมพันธุ์สัตว์ต่างๆ อาจชำนาญงานตามชนิดของกิจกรรม เช่น การผสมพันธุ์

2213.65 นักกีฏวิทยา
ศึกษาค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับแมลง การเจริญเติบโต โครงสร้าง กระบวนการและระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของแมลง และความสัมพันธ์ระหว่างแมลงกับชีวิตพืชและชีวิตสัตว์ และช่วยควบคุม แก้ไขปัญหา และป้องกันกำจัดแมลงศัตรูทางการเกษตร เช่น แมลงศัตรู ธัญพืช พืชไร่นา พืชสวน ไม้ยืนต้น ป่าไม้ แมลงทำลายผลผลิตในโรงเก็บ และแมลงพาหะนำโรคมาสู่พืช : ดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาเทคนิคใหม่ๆ ในการควบคุมหรือกำจัดแมลงในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายและป้องกันการแพร่ระบาดของแมลงที่เป็นอันตรายในพื้นที่ทำการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ; พัฒนาและปรับปรุงสารฆ่าแมลง วิธีการเพาะปลูกและวิธีการทางด้านชีวภาพของแมลง ; ศึกษาและวิจัยอิทธิพลของปัจจัยต่าง ๆ ในสภาพ แวดล้อมและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตและการแพร่ระบาดของแมลงเพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช และให้ความรู้ความเข้าใจในหลักการจัดการศัตรูพืช ; ศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎีและหลักการในการระบุและให้ชื่อแมลง วิวัฒนาการ การจัดหมวดหมู่ การวางรูปแบบ การวิเคราะห์ชนิดและการวินิจฉัยลำดับอนุกรมของแมลง รวมทั้งศึกษาวิวัฒนาการของรูปร่าง ลักษณะและกายวิภาคของแมลง ตลอดจนศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่เป็นศัตรูธรรมชาติของแมลงและวัชพืช และเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคกับแมลง วิธีการใช้สิ่งมีชีวิตต่างๆและเชื้อจุลินทรีย์ในการควบคุมแมลงศัตรูพืช

2213.90 นักเกษตรกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกันอื่นๆ
ผู้ปฏิบัติงานอาชีพในกลุ่มนี้ รวมถึง นักเกษตรกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกันซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น





กองส่งเสริมการมีงานทำ
กรมการจัดหางาน
กองส่งเสริมการมีงานทำ © Copyright 2004